-=Jfk=- Cyber Clinic

โรคผื่นผิวหนังไหม้จากพิษด้วงก้นกระดก(แมลงเฟรชชี่)
Paederus Dermatitis

วันอังคารที่ 8 พค.55 ที่ผ่านมา ดูรายการตี 10 เห็นคุณวิทวัส นำแอร์โฮสเตสท่านนึง ที่โดนแมลงแล้วเกิดอาการแพ้เป็นแผลไหม้รุนแรง มานำเสนอ ดูแล้วคิดว่าเป็นเรื่องราวใกล้ตัวที่น่าสนใจ เลยนำมารวมรวม ให้อ่านกันครับ

ในชุมชนเมือง อาจจะเจอโรคนี้ไม่ค่อยบ่อยนัก และ บ่อยครั้งที่รอยโรคไม่ชัดทำให้ ตัวคนไข้ หรือ แม้แต่แพทย์บางท่านเข้าใจว่า เป็นผื่นจากการแพ้อื่นๆ หรือ พวกโรคเริม งูสวัด หรือไฟลามทุ่ง แล้วแต่ว่ารอยโรคจะคล้ายโรคใดดังกล่าว

แต่สำหรับในพื้นที่ชนบท อย่างที่ผมอยู่นี่โรคนี้ เจอเยอะมากๆ โดยเฉพาในฤดูฝนที่มีแมลงพวกนี้แพร่พันธ์ออกมามาก ก็จะเห็น อุบัติการณ์ของโรคนี้ในคนไข้เป็นจำนวนมาก บางทีมากันแบบเป็นกันยกกลุ่มทั้งหมู่บ้าน

และที่พบบ่อยอีกกลุ่มก็ คือ ตามหอพักนักศึกษา โดยเฉพาะที่อยู่ตามชนบท และต่างจังหวัด เช่นมหิดล ศาลายา หรือ พระจอมเกล้าปราจีนใกล้ๆ เขาใหญ่(ที่พบในกลุ่มนี้มาก คิดว่าอาจจะเป็นเพราะว่า เป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยตัวเองเยอะ แต่ได้ออกไปสัมผัสกับชนบทมาก เลยทำให้มีรายงานพวกนี้ในกลุ่มนักศึกษาเหล่านี้ มากว่าคนทั่วไปตามชนบท(ซึ่งอาจจะเคยเจอเคยพบ แต่ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร) ช่วงที่พบบ่อยเป็นช่วงต้นฝนใกล้เปิดเทอม ตัวด้วงก้นกระดกนี้ เลยได้รับชื่อที่ทันสมัยตามไปด้วย ว่า แมลง เฟรชชี่

คนที่เป็นโรคนี้ ถ้ามีประวัติสัมผัสกับแมลง ก่อนเป็น อันนี้จะช่วยให้นึกถึงโรคนี้ได้มากขึ้น
แต่ส่วนใหญ่ เท่าที่พบ คนไข้ส่วนใหญ่ มักไม่ทราบประวัติตรงนี้ แต่พบว่า ตื่นนอนตอนเช้า อยู่ๆ ก็เห็นรอยแดงหรือผื่นดังกล่าวปรากฏขึ้นมาเองโดยไม่รู้ตัว

สาเหตุ ของโรค

เกิดจาก ด้วงก้นกระดก ชื่อสามัญ (Rove beetles) ชื่อวิทยาศาสตร์ Paederus fuscipes)
ด้วงก้นกระดก หรือ ด้วงก้นงอน เป็นแมลงที่อาศัยอยู่ตามกองมูลสัตว์ และ กองไม้ พวกนี้ จะออกมาเล่นไฟ ตามบ้านตอนกลางคืน

ลักษณะเป็นด้วงขนาดเล็ก ขนาด 4- 8 มม. หรือ ไม่ค่อยเกิน 1 ซม. ลำตัวเรียวยาว มีลักษณะจำเพาะ คือปีกคู่แรกสีเข้มแข็งและสั้น มีสีมันวาวไม่คลุมส่วนท้อง และมีปีกคู่สอง ที่ใหญ่ และยาวกว่าแต่มักจะมองไม่ค่อยเห็นเนื่องจากซ่อนในปีกคู่แรก ส่วนท้องยาวพ้นนอกปีกเห็นได้ชัด ปกติ มักจะชอบกระดกงอส่วนท้อง และปลายก้นขึ้นๆลงๆเมื่อเกาะอยู่กับที่ มีลักษณะสีสันต่างกันไปตามสายพันธ์ ที่พบบ่อยในไทยนั้นจะเป็นพันธุ์ ที่ส่วนท้องมีสีส้ม คล้ายมดแดงใหญ่ แต่ปลายก้นสีเข้ม ในตัวของด้วงก้นกระดกมีสารพิษประเภท Paederin

การเกิดพิษ เมื่อคนไข้สัมผัสกับแมลง แล้ว ลูบหรือบี้มันถูก ผิวหนังที่อ่อนบาง โดยจะรู้ หรือ ไม่รู้ตัวก็ตาม จะทำให้สารพิษในตัวของมันแตกออกมา เกิดพิษต่อผิวหนัง มีการระคายเคือง แสบไหม้ได้ (มักไม่ค่อยคัน) ถ้าสัมผัสถูกลูกตา อาจจะทำให้เกิดเยื่อบุตาอักเสบได้

ลองมาดูรอยโรคกัน (ปกติเจอเคสพวกนี้บ่อยมากแต่ไม่ได้ถ่ายเก็บไว้ ภาพชุดนี้ถ่ายจากคนไข้ เมื่อเย็นนี้เอง :P )

ลักณะรอยโรคที่พบ จะแตกต่างกันตามระยะเวลาที่สัมผัสมา ว่าโดนมานานแค่ไหน
ถ้าเป็นวันแรก อาจจะเห็นรอยโรคเป็นแค่รอยผื่นแดง คล้ายกับผื่นผิวหนังที่เกิดจากการแพ้ และอักเสบทั่วๆไป
" แต่โรคนี้ จะมีลักษณะเฉพาะ" คือ จะมีร่องรอยการกระจายของผื่นไปตามรอยลูบของมือ หรือการเกาของเล็บ ซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัยค่อนข้างมาก และถ้าคนไข้ปล่อยไว้นานขึ้นประมาณวันที่สอง รอยแดงนั้นอาจจะเริ่มเป็นมากขึ้นจะเปลี่ยนเป็นรอยไหม้คล้ายน้ำร้อนหรือไฟลวก

ถ้ายังคงปล่อยไว้ต่อ จนวันที่ 2-3 รอยไหม้ดังกล่าวจะเริ่มกลายเป็นหนองผิวหนังตรงนั้นเน่าเปื่อยแตกออกเป็นแผลให้เห็น

ภาพนี้เป็นรอยโรคที่บริเวณรอยพับของคอ ของคนไข้รายเดียวกัน ถ้าลำพังเห็นแค่รอยนี้อย่างเดียวอาจจะวินิจฉัยยากหน่อย เนื่องจากไม่เห็นการกระจายตามแนวลูบเหมือนปกติ อาจจะคิดถึงน้อยลง

ตัวอย่างคนไข้อีกรายที่ พบทั้งที่หน้าและลำตัวแต่เป็นในวันแรก ยังไม่ค่อยรุนแรงนัก

ตัวอย่างอีกเคส ภาพบ่าง มีรอย คล้าย Kissing Lesion คู่ด้านบนล่างแม้จะไม่ชัดนัก

รูปตัวอย่างอีกชุด จากน้องในห้องหว้ากอพันทิป ที่เจอด้วยตัวเอง

รอยผื่นแดงไหม้แดงๆวันแรก ที่คนไข้ ค้นดูในอินเตอร์เน็ตแล้วเข้าใจว่า จะเป็น งูสวัด แม้แต่ไปหาหมอก็ยังสงสัยแลส่งเพาะเชื้อดู แต่ไม่ใช่จนกระทั่งพบแพทย์ผิงหนังเฉพาะทาง ถึงวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้

ลักณะรอยโรคที่ชัดเจนในวันถัดมา จะเห็นรอยผื่นแดงเป็นปื้นตามรอยมือลูบ และมีผิวหนังบางส่วนเปื่อยยุ่ยเป็นหนองจากพิษของมัน ลักษณะนี้ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงโรคนี้ทีเดียว

จากแผลที่เป็นลึกทำลายผิวทำให้ เมื่อหายแล้ว รายนี้มีร่องรอยแผลเป็นทิ้งไว้ให้เห็นแต่ถ้ารักษาได้ไวก่อนที่เนื้อจะเสียหายมากจะไม่เกิดแผลเป็นหลงเหลือได้

รอยโรคที่ทำให้คิดถึงโรค Paederus Dermatis นี้ อีกอย่างก็คือ รอยโรคที่เรียกว่า kissing lesion

( ขอบคุณภาพจากคุณหมอ Phaimainmedicine แห่ง Phimaimedicine.blogspot.com ครับ )

สังเกตุเห็นรอยโรคแบบนี้ เกิดจากการที่ผิวหนังอีกด้านนึงไปแตะสัมผัสกับด้านที่ได้รับพิษก่อนแล้ว ทำให้อีกด้านได้รับพิษเกิดรอยแผลเหมือนกันเหมือนประทับตรายาง หรือ รอยจูบ ซึ่งมักพบตามข้อพับต่างๆ ที่ผิวหนังงอพับไปทับกันได้

ตัวอย่างรอยโรคที่รุนแรงพอสมควรในคนไข้อีก Case

นอกจาก ด้วงก้นกระดกแล้ว ในเมืองไทยเรายังพบโรค ผื่นผิวหนังไหม้ที่เกิดจากแมลงอื่นได้เช่น

แมลงตด ชื่อสามัญ Bombardiers หรือ Bomberd ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pherosophus siamensis (บอกถิ่นอยู่อาศัยเลย :) )

แมลงตดมีเป็นแมลงขนาดใหญ่ กว่าด้วงก้นกระดก มีหลายสายพันธุ์ในไทย เรา


แมลงในตะกูลนี้ สามารถปล่อยสารประเภทอ๊อกไซด์ของไนโตรเจน คล้ายกับกรดไนตริก ออกมาทางก้น เป็นอาวุธป้องกันตัว ถ้าสารนี้สัมผัสถูกผิวหนังคนเรา ก็จะทำให้เกิดการระคายเคืองไหม้พองได้ เช่นกัน สำหรับโรคผื่นผิวหนังไหม้จากพิษ ของแมลงอื่นๆ นอกจากด้วงก้นกระดก อาจจะเรียกชื่อรวมๆกัน ได้ว่า Dermitis toxica หรือ Irritant Dermtitis

การป้องกัน
พยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแมลง นอนกางมุ้งหรือ อยู่ในห้องที่ป้องกันแมลงได้ ถ้า รู้ว่าสัมผัสกับแมลงแล้ว อย่าถูหรือ ขยี้ หรือเกา ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดมากๆๆ ถ้าเห็นมีผื่นแดงไหม้ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษา ตั้งแต่ระยะแรกก่อนลุกลาม

การรักษา
ถ้าเป็นระยะแรกที่ยังไม่มีหนองมาก การใช้ยาแก้แพ้ รวมทั้งยาทาในกลุ่ม Steroid ช่วยให้แผลหายได้ดีก่อนที่จะเกิดแผลลุกลามลึก และเกิดแผลเป็นตามมา Systemic Steroid ในระยะสั้น 3-4 วันในรายที่ไม่มีข้อห้ามใช้ จากประสพการณ์ส่วนตัว พบว่าทำให้ Lesion หายได้ไวขึ้นมาก ส่วนในรายที่แผลมีการอักเสบเริ่มติดเชื้อ ยาปฏิชีวนะอาจจะจำเป็นเพื่อลดการติดเชื้อที่แผลไม่ให้ลุกลาม

มีปัญหาเพิ่มเติม เมลล์มาคุยกันได้ ครับ

jfk@2jfk.com

Back to -=Jfk=- Cyber Clinic

www.2jfk.com